ผ้าทอราชวัตร ผ้าทอเกาะยอเป็นสินค้า otop ที่ขึ้นของเกาะยอ โดยลายผ้าจะมีหลากหลายรูปแบบเช่นลายก้านแย่ง หรือลายคอนกเขา ลายดอกจิก ลายพุดซ้อน และลายเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกลายหนึ่งคือ “ผ้าทอลายราชวัตร” ที่รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อผ้าดีคุณภาพดีสีไม่ตก ลายเส้นผ้าดูเงางามเป็นธรรมชาติและไม่เป็ยขุยง่ายทำให้มีลูกค้ามากหน้าหลายตาเข้ามาแวะเวียนซื้อผ้าทอเกาะยออยู่ตลอดไม่ขาดสาย
ความเป็นมาของผ้าทอ ลายราชวัตร ถ้ากล่าวถึงเรื่องของผ้าทอ ก็ต้องนึกถึงผ้าทอเกาะยอ ที่มีการทอกันมานานเป็นร้อยๆปีจนกลายมาเป็นประวัติศาสตร์ผ้าเกาะยอ ถึงแม้เกาะยอจะมีพื้นที่และประชากรน้อย แต่มีอาชีพหลากหลายที่มารวมอยู่ที่เกาะยอ อย่างสมบูรณ์และครบถ้วน ผ้าทอลายราชวัตร นั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เดิมทีนั้น ผ้าทอลายราชวัตร ไม่ได้เรียกชื่อนี้ แต่ผ้าทอลายนี้ มีการทอด้วยกี่มือเป็นลายดอกเล็กๆ แล้วเรียกชื่อว่า ลายก้านแย่งหรือลายคอนกเขา สาเหตุก็เพราะ ผ้าทอลายนี้ทอ ออกมาแล้วจะคล้ายๆกับคอนกเขาชวา จึงเรียกว่า ลายคอนกเขา ต่อมาใน สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองสงขลาและแหลมมลายู
ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ พระองค์ได้ทรงเยี่ยมราษฎรชาวเกาะยอ ในการทรงเยี่ยมราษฎรชาวเกาะยอ ในครั้งที่ ๑ นี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาส เมืองเมือง สงขลาและแหลมมลายู
ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ โดยเสด็จลงเรือพระที่นั่งกระเชียง มีเรือกลไฟเล็กจูงไป ขึ้นที่ปากน้ำเมืองสงขลาผ่านหน้าเมืองไปถึงเกาะยอแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพลับพลา ซึ่งพระยาอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาจัดสร้างไว้รับรับเสด็จ ประทับอยู่ครู่หนึ่งแล้วเสด็จไปทอดพระเนตร สวนผลไม้ โรงปั้นหม้อ เสด็จกลับพลับพลา เสวยกลางวันที่นั้น ณ ที่นั้น (บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะยอ ) ทางราชการได้ใช้เป็นที่รับเสด็จโดยทางราชการได้เกณฑ์ผู้คน จำนวนมากมาช่วยกันถมที่เพื่อสร้างพลับพลารับเสด็จ โดยขุดลอกเป็นร่องน้ำเพื่อสร้างตะพาน (สะพาน)
ณ ที่นี่ คุณยายก่ำ ภัทรชนม์ ได้นำผ้าทอมือที่สวยที่สุดในสมัยนั้น ขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นผ้าที่คุณยายทอเอง จากกี่มือ (๔ ตะกอ) ทรงพอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ลายราชวัตร” ซึ่งแปลว่า กิจวัตรหรือการกระทำ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ เวลา ๕ โมงเศษ หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับ ผ้าทอเกาะยอจึงเรียกต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้ ในนาม ผ้าทอลายราชวัตร
ปัจจุบัน ผ้าทอเกาะยอ ยังคงมีการสืบทอดกันมายังรุ่นลูกรุ่นหลานชาวเกาะยอ ด้วยการตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มราชวัตถ์ แสงส่องหล้า ที่ ๑ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและพัฒนาผ้าทออย่างมีคุณภาพ ถ่ายทอดประสบการณ์การรวมกลุ่มและช่วยแปรรูปผ้าทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
คุณวิชัย มาระเสนา ประธานกลุ่มราชวัตถ์ แสงส่องหล้า ที่ ๑ เล่าว่า ได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มฯ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ ในนามกลุ่มราชวัตถ์พัฒนาผ้าทอเกาะยอ มีสมาชิกแรกเริ่ม ๑๔ คน โดยวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มฯ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการรวมกลุ่มครั้งแรกได้กู้เงินมาเป็นทุนในการซื้อเส้นใยจากโรงงาน และมีการตั้งราคาตามความเหมาะสม แต่จากได้มีการดำเนินการมา ๒ ปี ได้มีหน่วยงานที่ชื่อชมรมแสงส่องหล้า มาให้การช่วยเหลือต่อเติมอาคารและได้นำเรื่องกลุ่มอาชีพเสนอในสำนักพระราชวัง พร้อมกับขอชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๓ ว่า “ กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ ๑ ” และให้อันเชิญอักษระพระนามาภิไธย “สธ” มาประดิษฐ์สถาน ณ ที่ทำการกลุ่มโดยหม่อมราชวงศ์อดุลยกิจ กิติยากร
ต่อมาทางกลุ่มฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเมืองสงขลา จากโครงการเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ได้รับคัดเลือกเป็นกลุ่มดีเด่นระดับจังหวัด และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมสหกรณ์ คัดเลือกกลุ่มอาชีพเพื่อนำไปขอตราสินค้ามาตรฐานสหกรณ์ หรือ สมส. เพื่อให้ผ้าของกลุ่มฯ มีมาตรฐานรับรองสินค้า รวมทั้งได้รับงบประมาณตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนในการส่งเสริมอาชีพ
ซึ่งกลุ่มฯ ได้มีการได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน คือ สินค้าต้องมีคุณภาพ สินค้าต้องมีเครื่องหมายรองรับ สินค้าต้องมีป้ายบอกราคา ซื่อลายและจำนวนหลา สินค้าต้องสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนาธรรม และสุดท้ายต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในปี ๒๕๔๖ ผ้าทอเกาะยอของกลุ่มฯ ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๕ ดาว พร้อมได้รับรองในการแจ้งข้อมูลในเรื่องของภูมิปัญญาไทย และในปี ๒๕๔๗ คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๕ ดาว ในระดับประเทศ จึงเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งกลุ่มฯ ยังได้เปิดเป็นศูนย์ศึกษาหาความรู้ ถ่ายทอดศิลปะการทอผ้า แก่นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวอีกด้วย
หากสนใจสามารถติดต่อซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ ๑ เลขที่ ๓๘ หมู่ ๓ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ๙๐๑๐๐ โทรศัพท์ : ๐ ๗๔๔๕ ๐๐๒๙ ,๐๘๖ -๒๙๑๗๘๕๓ ,๐๘๙ - ๘๗๙๑๗๖๕